สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงานในปี 2549 ซึ่งกำหนดเกณฑ์ผู้ที่สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.) ซึ่งต้องจบปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเท่านั้น จึงจะสามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ ซึ่งจากข้อดังกล่าว จะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับกฎหมายนี้ ที่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ทางผู้จัดทำหลักสูตรจึงมีการพัฒนาหลักสูตรที่ให้สอดคล้องและรองรับกฎหมายนี้ เพื่อจะผลิตสาขานี้เข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลน โดยจะเน้นนักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและจรรยาบรรณในหน้าที่ที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ในปี 2550 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นโดยได้ระดมผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการความปลอดภัยเพื่อให้ความคิดเห็นและจัดทำเป็นหลักสูตรสมบูรณ์อีกหนึ่ง และนำเข้าสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เพื่อผ่านการเห็นชอบ ซึ่งมีมติเห็นชอบให้เปิดหลักสูตร จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ก็ผ่านการเห็นชอบหลักสูตรของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ได้รับการรับรองให้เป็นหลักสูตรวิชาชีพด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงมหาดไทย

การพัฒนาหลักสูตร

            หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ถูกปรับปรุงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์หรือการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงจากภาคอุตสาหกรรมแบบเดิมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีมายกระดับการแข่งขันทางอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากเทคโนโลยีแล้วความสามารถของแรงงานคุณภาพก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต การสร้างแรงงานคุณภาพเพื่อป้อนอุตสาหกรรมในยุค 4.0 จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสู่ตลาดแรงงานให้ได้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเองเป็นมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในหลากหลายสาขานับเป็นเวลาเกือบศตวรรษหนึ่งในหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตผลิตบัณฑิตออกมาสู่ตลาดแรงงานนั่นคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อออกมาทำหน้าที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมในการป้องกันอันตรายและสร้างความปลอดภัยเชิงรุกต่อสุขภาพ สวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน ทรัพย์สิน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ สถานประกอบการ ซึ่งจากสิ่งที่กล่าวในข้อ 11 อุบัติเหตุไม่ว่าจะเกิดในลักษณะเล็กน้อยไปจนถึงเสียชีวิต ย่อมนำความสูญเสียมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน และสถานประกอบการนั้น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงมูลค่าการสูญเสียจากค่าสินไหมทดแทน ระยะเวลาที่ต้องเสียจากการพักรักษาตัว ปริมาณสินค้าที่ต้องผลิตในแต่ละวัน และอื่น ๆ นับเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาล ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาหลักสูตรจึงมุ่งที่จะผลิตบัณฑิตที่มีเจตคติ และจรรยาบรรณในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีความสามารถในการจัดการ วางแผนป้องกันและลดอันตรายที่เกิดขึ้น โดยหลักวิชาการ และเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะทำให้การสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่ในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายของสถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์หรือการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ทำให้กระบวนการผลิตที่มุ่งการจัดการ วางแผนป้องกันและลดอันตรายในสถานประกอบการอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องบูรณาการความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้บัณฑิตจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น โดยทำการปรับปรุงหลักสูตรให้ผลิตบัณฑิตที่สามารถทำงานได้หลากหลายขึ้นทั้งวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุขชุมชน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในระดับวิชาชีพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาเบื้องต้น